20 ปีในตำนาน 20 ปีบนถนนแห่งนักสู้ Street Fighter



ถ้าพูดถึงเกมไฟต์ติ้งที่ เกมเมอร์พันธุ์แท้จะต้องนึกถึงเป็นชื่อต้นๆ คงหนีไม่พ้น ซีรีย์ Street Fighter ของค่าย Capcom ซึ่งเกมนี้นั้น มีประวัติความเป็นมามากว่า 20 ปี แล้ว เกมนี้เรียกได้เป็นต้นแบบเกมแนวไฟต์ติ้ง 2 D ที่ออกตามกันมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น King Of Fighter , Art of Fighting, Fatal Fury หรือแม้กระทั่ง Guity Gear

Street Fighter (1987)

      จุดเริ่มต้นของ “ถนนแห่งนักสู้” Street Fighter เริ่มเปิดตัวครั้งแรกในโลกเมื่อปี 1987 ซึ่งสร้างความแปลกใหม่ นับว่าเป็นกมแนวไฟต์ติ้ง ตัวแรกๆของยุคที่เปิดตัวออกมา จำได้ว่าเคยมีเข้ามาในประเทศไทยด้วย ระบบการเล่นใน Street Fighter เป็นจุดเริ่มต้นของการบังคับในภาคนี้เลย ซึ่งระบบที่เกม SF เปิดตัวมา จะมี 6 ปุ่ม แบ่งเป็นปุ่มต่อย 3 ปุ่ม ต่อย เบา กลาง หนัก และปุ่มเตะ 3 ปุ่ม เบา กลาง หนัก และตัวละครในภาคนี้ เราต้องบังคับเป็น ริว (RYU) พระเอกของซีรีย์ ภาคนี้เป็นการเปิดตัวครั้งแรกของท่าไม้ตายประจำซีรีย์ อย่าง ฮาโดเคน( Hadouken) โชริวเคน ( Shoryuken) และ เทตซึมากิ เซ็นปู เคียกกุ (Tatsumaki Senpuu Kyaku) หรือที่คนไทยเรียกว่า ลูกเตะพายุหมุน ด้วย (ขำๆว่า สะเบ็ดเจ็ดปู้เค๊ด)

      เนื้อเรื่องของ SF ภาคแรก คือ ริว เป็นหนุ่มนักสู้ ที่ต้องการฝึกปรือฝีมือ โดยออกเดินทางทั่วโลกเพื่อพิชิตคู่ต่อสู้เก่งๆทั่วโลก ใน SF ภาคแรก จะแบ่งประเทศที่ ริว ต้องเดินทางไปรอบโลกได้แก่ 5 ประเทศ คือ ประเทศจีน ญี่ปุ่น อังกฤษ อเมริกา และ ประเทศไทย ซึ่งแต่ละประเทศจะมีคู่ต่อสู้ 2 คน แต่ละประเทศมีคู่ต่อสู้ที่ ริว จะต้องเผชิญหน้ามีดังนี้

1. ประเทศ ญี่ปุ่น - Retsu , Geki
2. ประเทศจีน - Gen, Lee
3. ประเทศอังกฤษ -Birdie, Eagle
4. ประเทศ อเมริกา - Mike, Joe
5. ประเทศไทย – Adon, Sagat
** ส่วน Ken นั้นจะมาให้เลือกก็ต่อเมื่อเราเล่นแบบต่อสู้กันเอง โดย Ken ไม่สามารถนำมาเล่นเป็นเนื้อเรื่องเหมือน Ryu ได้

      ใน SF หลังจากนี้ ศัตรูหลายๆตัวยังคงมีบทบาทในภาคหลังๆออกมา เช่น Gen, Adon, Birdie ฯลฯ แต่บางตัวก็หายไปเลย เช่น Retsu และ Joe และบอสใหญ่ในภาคนี้ได้แก่ Sagat ซึ่ง Ryu ได้ฝากรอยแผลเป็นไว้ที่หน้าอกของเขา และ Sagat ก็กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตนับแต่นั้นมา

**หมายเหตุ เกมนี้ ได้ลงบนเครื่อง TurboGrafx-16 ใช้ชื่อว่า Fighting Street

Street Fighter II (1991)

      ภาคต่อจาก Street Fighter ที่ได้ผู้สร้างคนเดิมอย่างคู่หู อากิระ นิชิตานิ (Akira Nishitani) และ อากิระ ยาซูดะ (Akira Yasuda) มาสร้างภาคต่อให้ ซึ่งภาคนี้ดังเป็นพลุแตกจริงๆ ถ้าคอเกมตู้สมัย 10 ปีแล้วไม่รู้จักเกมนี้ถือว่าเชยระเบิดจริงๆ ซึ่งห้างไหนไม่มีเกมตู้เกมนี้ถือ... (เติมเอาเอง) ระบบการต่อสู้ยังคงเดิม และมีการเพิ่ม การทำ Combo ด้วย ในภาคนี้มีสามารถเลือกตัวละครได้ทั้งหมด 8 ตัว และแต่ละตัวก็มีเนื้อเรื่องเป็นของตัวเอง นอกจาก ริว และ เคน ที่กลับมามีบทบาทเหมือนเดิมแล้ว ในภาคนี้ CAPCOM ได้ให้กำเนิดตัวละครตัวใหม่เพิ่มมาอีก 6 ตัว นับรวมทั้ง ริว และ เคน ด้วยก็เป็น 8 ตัวที่เราเลือกเล่นได้ และบวกด้วย บอส อีก 4 ตัว ส่วนตัวละครแต่ละตัวก็มาจากประเทศต่างๆทั่วโลกเช่นเดิม

รายชื่อตัวละครในถาค SF II ที่สามารถเลือกเล่นได้ มี

ริว - Ryu
เคน - Ken
ชุนลี –Chun Li
บลังก้า - Blanka
กิลด์ - Guild
ซานกีฟ - Zangief
ดัลซิม - Dhalsim
อี.ฮอนดะ – E. Honda (ตัว อี ย่อมาจาก Edomondo )

บอส 4 ตัว
บัลร๊อก – Balrog(ชื่อในภาคญี่ปุ่นเรียกว่า เอ็ม ไบซัน)
เวก้า - Vega (ชื่อในภาคญี่ปุ่นเรียกว่า บัลร๊อก)
ซากัท - Sagat
เอ็ม ไบซัน - M. Bison (ชื่อในภาคญี่ปุ่นเรียกว่า เวก้า)

และต่อมาทาง CAPCOM ก็ได้ออกเวอร์ชั่นอัพเดตตามหลังต่อมามาย นับเฉพาะที่ลงอาเคต มีดังนี้

Street Fighter II′: Champion Edition


- บอสทั้ง 4 ตัวสามารถเลือกนำมาเล่นได้
- สามารถเลือกตัวละครซ้ำกันได้
- มีการปรับเปลี่ยนสีสันต์ของฉากหลัง แต่ยังสภาพแวดล้อมเดิมๆ
- ปรับสมดุลของนักสู้แต่ละตัวดีขึ่น

Street Fighter II′: Hyper Fighting
- เกมเพลย์ที่ปรับให้เร็วขึ้นมาก
- ตัวละครหลายตัวสามารถใช้ท่ากลางอากาศได้ อย่างท่า ลูกเตะพายุหมุน ของ ริว หรือท่า สปินนิ่ง คิ๊ก ของ ชุนลี
- สีเครื่องต่างกาย หรือ สีผิว ของตัวละครหลากหลายขึ้น

Super Street Fighter II: The New Challengers


ภาคนี้ CAPCOM มีการปรับเปลี่ยนมากมาย ทั้งการปรับเปลี่ยนฉากใหม่ ๆ หน้าตาตัวละครช่วงเลือกตัวก็เปลี่ยนไป รวมถึงเอ็นจิ้นตัวใหม่ที่ใช้พัฒนา ก็เปลี่ยนไปใช้ CPS-2 เอ็นจิ้นของ CAPCOM ที่พัฒนาสำหรับเกมอาร์เคตโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มตัวละครใหม่มาด้วย

- มีการเพิ่มตัวละครใหม่เข้ามาอีก 4 ตัวได้แก่
Fei Long เฟย์ ลอง
Dee Jay ดี เจย์
T.Hawk ที. ฮอร์ก ** ตัวที ย่อมาจาก Thunder
Cammy แคมมี่
- บอส ทั้งสี่ตัว มีการอัพเกรดท่าต่างๆของแต่ละตัว
- บอสทั้งสี่ตัวมีฉากจบเฉพาะของตัวเอง
- แต่ละตัวละครเปลี่ยนสีเสื้อหรือสีผว ได้ถึง 8 สี
- ตัวละครทั้ง 8 ตัวดั่งเดิม บางตัว ฉากได้มีการปรับเปลี่ยนสีสันต์ของฉาก และดนตรีประกอบ
- มีคะแนนสำหรับ first attack, combos และ reversals.
- ความเร็วของภาค Street Fighter II′: Hyper Fighting ถูกตัดออกไป

Super Street Fighter II Turbo( หรือในภาคญี่ปุ่นว่า Super Street Fighter II X: Grand Master Challenge)
- มีเกจ “SUPER” ซึ่งถ้าเกจนี้เต็ม เราสามารถใช้ท่าไม้ตายสุดยอดที่มีความรุนแรงในแต่ละตัวได้ (เป็นครั้งแรกที่มีเกจ ท่าไม้ตายสุดยอดในซีรีย์ SF)
- มีการปรับความเร็วเพิ่มจาก Super SF2 ให้ใกล้เคียงกับระดับของ Hyper Fighting
- อบิลีตี้ “Tech” ซึ่งอบิลิตี้นี้สามารถลดความรุนแรงของท่าทุ่มได้
- มีตัวละครลับ ซึ่งก็คือ อคูม่า ( Akuma )หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า โกคิ (Gouki)
- ไม่มี โบนัส สเตท
- เวลาตัวละครที่ใช้ท่ากลางอากาศ อย่าง โชริวเคน หรือ ซัมเมอร์ซอลท์ คิ๊ก ไม่เป็นอมตะตลอดเวลา ประมาณว่าอาจมีการปะทะด้วยกันทั้งคู่ได้ ซึ่งภาคเก่าๆ ไม่ว่าจะเป็น โชริวเคน หรือ ซัมเมอร์ซอลท์ คิ๊ก เวลาโจมตีแล้ว ถึงแม้ว่าคู่ต่อสู้จะกระโดดสวนขึ้นไปยังไงก็ โดนโจมตีอยู่ดี

Street Fighter Alpha : Warrior's Dreams หรือภาคญี่ปุ่นเรียกว่า Street Fighter Zero (1995)

      เนื้อเรื่องในภาคนี้จะเป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องจาก Street Fighter ภาคแรก และเกิดก่อนเหตุการณ์ Street Fighter II ดังนั้นตัวละครในภาคนี้จึ้งดูหนุ่มและดูเด็กขึ้น นอกจากการดีไซด์ของตัวละครยังเป็นแบบตูนเฉดด้วย และในภาคนี้เองก็ได้มีตัวละครจากซีรีย์อื่นๆของ CAPCOM มารวมแจมในภาคนี้ด้วย อาทิ เช่น Guy จาก ซีรีย์ Final Fight เกมเดินตะลุยแนว 2 D ที่ขึ้นชื่อของ CAPCOM นอกจากนี้ ยีงมีตัวละครเก่าๆ จาก Street Fighter ภาคแรก กลับมาด้วย เช่น Gen, Birdie และ Adon ส่วนเพิ่มเติมก็มี Dan ตัวละครที่ Capcom ตั้งใจสร้างมาเพื่อล้อเลียน Ryo และ Robert 2 พระเอกจากเกมไฟต์ติ้ง Art of Fighting ของ SNK คู่แข่งของ Capcom นั้นเอง

 ส่วนระบบการเล่นนั้นก็มีการปรับเปลี่ยนไปอีกเช่นกัน มีระบบ Counter Zero ที่เพิ่มขึ้นมา โดยระบบนี้ทำให้เราสามารถเค้าท์เตอร์การโจมตีของคู่ต่อสู้ได้ แต่เราต้องเสียเกจซูเปอร์คอมโบไป หนึ่งเกจ นอกจากนี้ยังมีระบบ Chain Combo ที่เราสามารถกดปุ่มโจมตีเรียงต่อๆกัน จะเป็นการทำคอมโบต่อเนื่องได้ เช่น กดต่อย เบา ต่อย กลาง ต่อยหนัก ต่อเนื่อง จะได้ 3 Hit Combos เป็นต้น และระบบเกจซูปเปอร์คอมโบจะเป็น 3 เกจ
รายชื่อ ตัวละครในภาคนี้

Street Fighter Alpha 2 (1996)

      ภาคนี้ Capcom ขนตัวละครจากภาคที่แล้วกลับมาครบครัน และก็เพิ่มตัวละครดังๆ จาก Street Fighter II เข้าไปอีกด้วยเช่น Zangief และ Dhalsim นอกจากตัวละครเก่าๆจากซีรีย์ SF II ยังมีตัวละครจาก Final Fight เพิ่มมาด้วยอีกเช่นกัน คือ Rolento และยังเปิดการเปิดตัวละครใหม่ๆที่ไม่เคยเปิดตัวในซีรีย์ไหนของ Capcom มาก่อนด้วย คือ Sakura แฟนพันธุ์แท้ของ ริว นอกจากนี้ ยังการปรากฏตัวของริวร่างมารด้วย ( Evil Ryu )

ระบบการเล่นก็ยังต่อเนื่องมาจากภาคที่แล้ว และ Counter Zero ก็สามารถกดได้ทั้ง เตะ หรือ ต่อย ซึ่งภาคที่แล้วตัวละครจะ เตะ หรือ ต่อย ใน CZ ได้แบบเดียว ส่วนระบบ Chain Combo บางตัวไม่สามารถทำได้แล้ว แต่บางตัวก็กดยากขึ้นมาก แต่ CAPCOM ได้ใส่ระบบช่วยการทำคอมโบคือ Custom Combo ขึ้นมา 
ต่อมาในการพอร์ตลงเครื่องคอนโซลแพลต์ฟอร์มตางๆ CAPCOM ได้ใส่ตัวละครเพิ่มมาอีก คือ Cammy
Street Fighter Alpha 3 (1998)
      ภาคนี้เป็นเหตุการณ์ต่อจากภาค Alpha 2 เช่นเดียวกันกับระบบการต่อสู้ที่ Capcom เพิ่มเติมมาอีกแล้ว ซึ่งระบบใน ภาคนี้จะแบ่งสไตล์การต่อสู้เป็น 3 แบบ คือ ระบบ Z-Ism ระบบ V – Ism และ ระบบ X – Ism ซึ่งทั้ง 3 ระบบมีความแตกต่างกัน โดย

Z-Ism – จะสามารถใช้ Counter Zero ระบบจะเหมือนกับซีรีย์ SF Alpha ทั้ง 2 ภาคที่ผ่านมา
V – Ism – ก็คือการทำ Custom Combo ระบบที่เพิ่มขึ้นมาใน SF Alpha 2 แต่ในขณะที่ใช้ CC สามารถเดินหน้า ถอยหลัง ได้ตามปรกติ ซึ่งภาค Alpha 2 เมื่อเรากดใช้ CC เราไม่สามารถถอยหลังได้ และเกจ CC เมื่อ เราสะสมได้เพียง 50% ก็สามารถใช้ได้เลย
X – Ism – เป็นระบบที่อิงมาจาก Super Street Fighter II มีเกจคอมโบเพียงเกจเดียว ไม่สามารถป้องกันกลางอากาศได้ แต่มีขอดีตรงที่โจมตีได้รุนแรงกว่า 2 ระบบที่ผ่านมา และตัวละครเมื่อเลือกต่อสู้สไตล์นี้ สไตล์การต่อสู้จะย้อนกลับไปเหมือนภาค Super Street Fighter II เช่น ลูกพลังฮาโดเคนจะเปลี่ยนไป เครื่องแต่งกายของชุน ลีจะกลับไปเหมือนชุดเดิมในภาคนั้น และยังสามารถกดใช้ท่า สปินนิ่ง คิ๊ก ได้ด้วย ฯลฯ

      นอกจากนี้ Capcom ยังเพิ่มเกจ ของการ์ดมาด้วย ซึ่งระบบนี้ Capcom ทำไว้เพื่อกันไฟต์เตอร์ที่ชอบเน้นรับอย่างเดียว เพราะเกจนี้ เมื่อตัวละครป้องกันการต่อสู้บ่อยๆ การ์ดจะแตกได้ แต่เกจนี้สมามารถคืนสภาพได้ เมื่อตัวละครเว้นระยะจากการป้องกัน หรือขณะรุกใส่คู่ต่อสู้อยู่


ส่วนตัวละครนั้น ภาคนี้ Capcom ขนตัวละครที่แฟนๆชื่นชอบจาก SF II กลับมาครบครัน ไม่ว่าจะเป็น E. Honda, Blanka, Cammy และ Balrog ถ้าในเวอร์ชั่น อาร์เคตจะมีทั้งหมด 25 ตัว ซึ่งตัวละครใหม่ๆที่เพิ่มขึ้นมา คือ Cody จาก ซีรีย์ Final Fight นักมวยปล้ำหญิง Rainbow Mika คู่ปรับของ ซากุระ อย่าง Karin Kanzuki และ 2 ทหารหญิงจากองค์กร ชาโดว์ ลู Juli และ Juniในเวอร์ชั่นคอนโซล Capcom ก็เพิ่มตัวละครอย่าง Dee Jay, Fai Long, T.Hawk, Guile ฯลฯ สรุป รวมทุกเวอร์ชั่นที่ลงคอนโซล SF Alpha 3 มีนักสู้ถึง 36 คนเลยที่เดียว - -a

Street Fighter III (1997)

      Capcom ได้ลงมือสร้างภาคนี้ก่อน Street Fighter Alpha 3 (1998) เพื่อฉีกแนวจากซีรีย์ SF Alpha โดยใช้เอ็นจิ้นตัวใหม่ CPS-3 ซึ่งเป็นตัวเดียวกับเอ็นจิ้นที่สร้างเกมไฟต์ติ้ง โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ (JoJo's Bizarre Adventure และ Red Earth ซึ่งกราฟฟิกในภาคนี้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก จากตูนเฉดแบบซีรีย์ Alpha เป็นแบบสมจริงสมจังมากขึ้น ซึ่งในซีรีย์หลัก SF III นี้ก็มีภาคที่ต่อเนื่องตามมาอีก เหมือนกับ ซีรีย์ SF II และ Alpha

Street Fighter III: New Generation (1997) Street Fighter III 2nd Impact (1997) Street Fighter III 3rd Impact (1999)

      ในภาคนี้ Capcom ตัดสินใจนำตัวละครหลักในซีรีย์นี้กลับมาแค่ 2 คน เท่านั้น คือ RYU และ KEN นอกนั้นใช้ตัวละครใหม่ๆทั้งหมด ไม่มีการนำตัวละครจากเกมอื่นๆของ Capcom มาใช้เลย และมีมาให้เกมเมอร์ได้เล่นแค่ 10 ตัวเท่านั้น

      และแน่นอนว่าขึ้นภาคใหม่ Capcom ก็ต้องใส่ ระบบใหม่ๆเข้ามาอีกด้วย ซึ่งระบบภาคนี้คือ ระบบ “Parry Block” ระบบนี้จะเป็นเหมือนระบบการ์ดที่เราสามารถ โจมตีต่อสู้กลับคืนได้เลย แต่ระบบค่อนข้างจะยากสำหรับเกมเมอร์คอไฟต์ติ้งทั่วไปอยู่มาก เนื่องจากเราต้องกะจังหวะการโจมตีให้ดี ถึงจะใช้ Parry Block ได้ถูกจังหวะ คือ ในช่วงเวลาที่คู่ต่อสู้โจมตีเข้ามา เราต้องกะจังหวะกดเดินหน้า หรือกดลง ให้พอดีกับจังหวะที่โจมตีเข้ามา เราก็สามารถ Parry Block ได้พอดี แต่ถ้าพลาด เราก็รับการโจมตีไปเต็มๆ

      ระบบนี้เรียกว่าเป็นระบบที่สามารถพลิกโอกาสได้เพียงเสียววินาทีจริงๆ จากจะแพ้กลับมาเป็นฝ่ายชนะได้โดยง่าย และข้อดีอีกอย่างคือ ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีแบบไหน ทั้งท่าโจมตีแบบธรรมดา เตะ ต่อย ฯลฯ หรือ ท่าพิเศษอย่าง ฮาโดเคน หรือ ท่าไม้ตายสุดยอด ถ้าเรา Parry Block ได้ พลังก็จะไม่ลด แตกต่างจากการการ์ดแบบธรรมดา เพราะถ้ากันพวกท่าพิเศษหรือท่าไม้ตายสุดยอด พลังกายก็จะลดไปตามฮิตของการโจมตีที่ป้องกัน

      เนื่องจากไม่ว่าตัวละครใดๆก็สามารถ Parry Block ได้ ทำให้ความสามารถต่างๆของตัวละครไม่เหลื่อมล้ำกันมาก เกมเมอร์ที่ฝีมือดี Parry Block คล่องสามารถใช้ตัวละครที่ใช้ยากๆจัดการพวกตัวละครที่มีความสมดุลสูง อย่าง Ryu และ Ken ได้ง่ายดายมาก เรียกว่าใน Street Fighter III วัดกันที่ฝีมือการ Parry Block ล้วนๆเลย

      และอีกระบบที่เพิ่มขึ้นมาคือ EX special เป็นระบบที่ เหมือนกับซีรีย์ Darkstalkers อีกหนึ่งเกมตระกูลไฟต์ติ้งจาก Capcom คือการโจมตีที่รุนแรงขึ้น แต่ไม่แรงถึงระดับ ท่าไม้ตายสุดยอด เช่น ถ้า ริว ปล่อย ฮาโดเคน ออกมา แบบธรรมดาจะโดนแค่ 1 ที แต่ถ้าเป็น EX special ฮาโดเคนจะออกมาทีล่ะ 2-3 ลูกติดๆกัน แต่ในการใช้ท่า EX special จะลดเกจของท่าไม้ตายสุดยอด ลงไปด้วย

      พูดถึงท่าไม้ตายสุดยอดนั้น ในภาคนี้ก็มีการปรับเปลี่ยนไปนิดหน่อย คือ จะมีท่าไม้ตายสุดยอดของแต่ละตัวละครอยู่ 3 ท่า ซึ่งเราจะเลือกใช้ได้เพียงท่าเดียวเท่านั้น และเกจของท่าไม้ตายสุดยอด ก็ไม่กำหนดตายตัว บางท่าไม้ตาย อาจเก็บได้ 3 เกจ บางท่าก็แค่ 1 เกจ เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีระบบเกจวัดความมึนด้วย ซึ่งเกจนี้จะเพิ่มขึ้นก็ต่อเมื่อเราถูกโจมตี และเมื่อเราถูกโจมตี จนเกจนี้เต็ม เราก็จะมึนได้ทันที ดังนั้นต้องระมัดระวังในการเข้าแลกกับคู่ต่อสู้พอสมควร

      และในปีเดียวนั้นเอง หลังจากออก Street Fighter III: New Generation ออกมาชิมลางไปก่อนแล้ว Capcom ก็ตัดสินใจเข็น Street Fighter III :2nd Impact ตามออกมาติดๆ และอีกปี 2 ต่อมา ก็ตามด้วย Street Fighter III :3rd Impact ซึ่งในการเข็นภาคเสริมออกมาอีก 2 ภาคนั้น Capcom ไม่ได้ มีการอัพเกรดระบบเพิ่มมาด้วย แค่มีการเพิ่มตัวละครมาใหม่ๆอีกเท่านั้นเอง ในภาค 3rd Impact นอกจากตัวละครที่เพิ่มเติมขึ้นมาอีกมากมายแล้ว ดนตรีประกอบในภาคนี้ก็ได้รับการกล่าวถึงมากมายเช่นกัน เพราะในภาคนี้ดนตรีประกอบมีมากมายหลากหลายแนวไม่ว่าจะเป็น Jungle, Hip-Hop และ Drum and Bass

      แต่ถึงกระนั้นก็ตามกระแสของ Street Fighter III ทั้ง 3 ภาคก็เริ่มจะแผ่วๆลงไปแล้ว ไม่ฮิตเปรี้ยงปร้างต่อเนื่อง เหมือนช่วง SF II ต่อด้วยซีรีย์ Alpha ซึ่งเหตุผลหลายๆเหตุผลที่คาดการณ์กันว่าทำไม่ ซีรีย์นี้ไม่ฮิต ประกอบด้วย

1. เปิดตัวในช่วงกระแสเกมตู้อาเคตเริ่มอยู่ในช่วงขาลง
2. เกมไฟต์ติ้งแนวใหม่ๆอย่าง 3D เช่น Tekken มีความแปลกใหม่ในตลาด ฮิตมากมายในช่วงนั้น
3. ไม่มีความแปลกใหม่
4. ซีรีย์นี้เริ่มเสื่อมความนิยมลง หลังจากถึงจุดพีกสุดในช่วง SF II และซีรีย์ Alpha

      หลังจากจบจากภาคนี้ไป Capcom ก็ผลักดันให้เฟรนไชส์ Street Fighter เปลี่ยนแนวจาก 2 D ไปเป็น 3 D ตามสมัยนิยม ในชื่อว่า Street Fighter EX แต่ก็ไม่ได้สร้างความฮือฮาเลย แทบจะเป็นการขุดหลุมฝังซีรีย์ให้ตายเร็วขึ้นไปอีก ซึ่งเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของ ซีรีย์ SF คือการต่อสู้แบบ 2D ไม่ใช่แบบ 3D และยิ่ง Capcom ไปทำแบบนั้นก็แทบเหมือนทำลายจิตวิญญาณของเกมนี้เลยทีเดียว

ตัวละครใหม่ๆในภาค New Generation

ภาค Street Fighter III : 2nd Impact

ภาค Street Fighter III : 3rd Impact

Street Fighter IV (2008)
      ภาคใหม่ล่าสุดของซีรีย์นี้ หลังจากเว้นวรรค ห่างหายไปนาน เกือบๆ10 ปี ซึ่งการกลับมาครั้งนี้ เหมือนเป็นการสวนกระแสกลับมาเป็น 2D อีกครั้ง หลังจากเสียผู้เสียคนไปกับ Street Fighter EX ในการกลับมาครั้งนี้ นอกจากสไตล์เกมเพลย์ที่เหมือนเดิม ยังได้เพิ่มลูกเล่นขึ้นมาอีก โดยระหว่างการต่อสู้ เกม จะปรับกราฟฟิกให้เป็น 2.5 D และระบบการต่อสู้ใหม่ๆขึ้นมาที่เรียกว่า “Revenge”

      ซึ่งเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมามากจากสมัยก่อน ทำให้ภาพที่ปรากฏให้ดู ดูอลังการ ตระการตามากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาพการปล่อย ฮาโดเคน ของ ริว หรือ โชริวเคน ของ เคน และยิ่งภาพเปิดตัวที่เปิดมาในตอนแรกสุดก็สร้างความฮือฮามากมาย แต่ก็ไม่วายมีข้อสงสัยว่าเกมจะไปได้สวยหรือไม่ เนื่องจากภาคล่าสุดอย่าง Street Fighter EX ก็แป้กมาแล้ว


ทาง โยชิโนริ โอโนะ (Yoshinori Ono) โปรดิวเซอร์ที่เข้ามาดูแลการผลิตในภาคนี้ ก็ตกปากรับคำว่าจะมีการนำตัวละครหลักๆจากซีรีย์ SF II เข้ามา เนื่องจากในภาคนี้ ได้รับความแพร่หลายเป็นอย่างสูง มีความคลาสสิคในตัวมันเองอยู่มากมาย และตัวละครที่ ได้รับการยืนยันมาแล้ว นอกเหนือจาก ริว เคน ชุนลี ดัลซิม และ คริมสัน ไวเปอร์ แล้วก็มี อาคุม่า

      และนี้ก็เป็นประวัติความเป็นมาของซีรีย์เกมไฟต์ติ้งระดับขึ้นหิ้งเกมหนึ่ง ที่ไม่ว่าจะเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็จะได้รับการกล่าวถึงเสมอๆ เหมือนคนๆหนึ่งที่ผ่านเวลามาเนิ่นนานกว่า 20 ปี ผ่านจุดสูงสุด และ จุดต่ำสุดมาหมดแล้ว ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย เวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน แต่ความเป็นตำนาน ของถนนนักสู้สายนี้ไม่เปลี่ยน ถนนสายนี้ยังทอดยาวไปอีกไกลนัก